ปัจจุบัน วงการอาหารและขนม กำลังให้ความสนใจกับกระแสการปรุงอาหาร หรือตกแต่งจาน โดยใช้ ดอกไม้กินได้ (Edible Flowers) ดังที่มีคำกล่าวว่า อาหารก็คืองานศิลปะ ต้องเสพได้ทั้งสามทาง คือ รูป กลิ่น และรส ดอกไม้สีสันสวยงาม จึงถูกเลือกมาใช้ เพื่อเพิ่มความมีชีวิตชีวา และแปลกใหม่ให้กับเมนูเดิม ๆ
สารบัญ
- มากกว่าความสวยงาม คือคุณค่าทางวัฒนธรรม
- นานาดอกไม้ และ สรรพคุณทางยา
- 6 ดอกไม้กินได้ ยอดนิยม 2021
- ดอกไม้กินได้…ไม่ใช่ดอกอะไรก็ได้
ดอกไม้ที่ถูกเลือกมานี้ ไม่เพียงเป็นแค่ของประดับ ซึ่งจะถูกเขี่ยออกไปที่ข้างจาน แต่ด้วยการพิถีพิถันในการเลือกสรรชนิดของดอกไม้ที่ไม่มีโทษต่อร่างกาย จึงทำให้สามารถรับประทานร่วมกับอาหารได้อย่างปลอดภัย
มากกว่าความสวยงาม คือคุณค่าทางวัฒนธรรม
การใส่ดอกไม้ในอาหาร มีกล่าวถึงอยู่ในหน้าประวัติศาสตร์มาอย่างยาวนาน ในหลายวัฒนธรรม ไม่ว่าจะในทวีปยุโรป อินเดียตะวันออก ตะวันออกกลาง หรือทวีปเอเชีย โดยในประเทศไทย มีการกล่าวถึงเมนูอาหารที่ใช้ดอกไม้เป็นส่วนประกอบ อยู่ในตำราแม่ครัวหัวป่าก์ ของท่านผู้หญิงเปลี่ยน ภาสกรวงศ์ หลายเมนู ทั้งอาหารคาว เช่น แกงหมูหองกับดอกไม้จีน แกงดอกพยอม แกงหมูกับดอกส้มเสี้ยว หรือการสกัดเอาสี และกลิ่นของดอกไม้ มาใช้เป็นส่วนผสมขนมไทย เช่น ขนมน้ำดอกไม้ ขนมปุยฝ้าย เป็นต้น ก่อนจะประดับตกแต่งด้วยดอกไม้สดเมื่อจัดเป็นสำรับ ดังข้อความตอนหนึ่งที่ว่า “เมื่อสุกแล้วยกลงพอเย็น แกะออกลงโถอบดอกไม้อีกทีหนึ่ง จะเลี้ยงพระ ฤๅจะใช้อย่างไรในการจัดสำรับ เอากลีบดอกกุหลาบแลดอกมะลิบานแซมประดับด้วยดูงามน่ารับประทาน” (เปลี่ยน ภาสกรวงศ์, ท่านผู้หญิง 2451:332)
สืบเนื่องมาถึงปัจจุบัน เริ่มมีการผสมผสานทางวัฒนธรรม จากการริเริ่มปลูกดอกไม้ที่เป็นพืชต่างถิ่น นำมาสู่กระแสนิยมในการใช้ดอกไม้กินได้หลากหลายชนิด ทั้งดอกไม้ไทย และดอกไม้ต่างประเทศ มาเป็นส่วนประกอบของอาหาร เพื่อความสวยงาม เพิ่มมูลค่า และยังให้ประโยชน์ต่อร่างกาย
นานาดอกไม้ และ สรรพคุณทางยา
เมื่อนึกถึงประโยชน์ของการใช้ดอกไม้กินได้มาเป็นส่วนประกอบ หรือตกแต่งจานอาหาร นอกจากความสวยงาม ดอกไม้หลายชนิดยังมีสรรพคุณทางยา ให้ประโยชน์ต่อร่างกาย ในปัจจุบัน จึงมีกระแสนิยมในการนำดอกไม้ที่ไม่มีพิษ สามารถรับประทานได้ ทั้งดอกไม้สัญชาติไทยแท้ ๆ และที่ได้รับอิทธิพลมาจากความนิยมในต่างประเทศ จนมีผู้นำมาปลูกและขยายพันธุ์ได้ในประเทศไทย มาใช้เป็นส่วนประกอบของอาหาร หรือตกแต่งจาน ทั้งอาหารคาวและหวาน ช่วยยกระดับความหรูหรา แล้วยังสร้างกระแส ดึงดูดความสนใจ เมื่อมีการแพร่ภาพออกไปในโลกโซเชียลได้ดียิ่งขึ้น
6 ดอกไม้กินได้ ยอดนิยม 2021
1. ดอกอัญชัน (Butterfly pea)
ไม้ดอกที่พบได้ทั่วไปในประเทศไทย ช่วยบำรุงสายตา ชะลอวัย และช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือด เป็นดอกไม้ที่นิยมมากในการนำมาสกัดสี เป็นส่วนผสมของอาหารและขนมไทย เช่น ข้าวเหนียวไพลิน เป็นการประยุกต์เมนูข้าวเหนียวมะม่วงเดิม ๆ เพิ่มเติมสีของดอกอัญชันเข้าไปในขั้นตอนของการหุงข้าวกับกะทิ จึงได้ข้าวเหนียมมูนสีน้ำเงิน สวยเหมือนอัญมณีสมชื่อ เมื่อจัดจานก็ตกแต่งด้วยดอกอัญชันสด ตัดกับสีเหลืองของมะม่วงสุกที่วางเรียงคู่กัน
2. ดอกหน้าแมว (Pansy)
มีรสอมเปรี้ยว อุดมไปด้วยวิตามินเอ และซี สีสันสวยงาม จึงนิยมใส่ในสลัด หรือตกแต่งหน้าเค้ก
3. ดอกลาเวนเดอร์ (Lavandula)
มีกลิ่นที่เป็นเอกลักษณ์ และสรรพคุณที่ช่วยให้ผ่อนคลาย จึงเป็นดอกไม้อีกชนิดหนึ่งที่นิยมนำมาเป็นส่วนผสมในขนมอบ
4. ดอกคาโมมายล์ (Camomile)
เป็นดอกไม้สีขาวน่ารัก ที่อุดมไปด้วยสารต้านอนุมูลอิสระ และให้กลิ่นหอมอ่อน ๆ
5. ทาร์รากอน (Tarragon)
พืชสัญชาติฝรั่งเศสชนิดนี้ มีดีทั้งใบ และดอก ในส่วนของดอกนั้นก็มีสีเหลืองสดใส จึงเป็นตัวเลือกต้น ๆ ที่ภัตตาคารมีระดับหลายแห่ง เลือกใช้สำหรับวางประดับจานซาชิมิ หรือตกแต่งหน้าเค้ก มีสรรพคุณช่วยย่อยอาหาร ขับปัสสาวะ และลดอาการอักเสบ
6. ดอกแววมยุรา (Torenia)
พืชไม้ประดับที่พบได้ทั่วไปอย่างแววมยุราเป็นไม้ดอกกินได้อีกหนึ่งชนิดที่สามารถนำมาประกอบอาหาร หรือตกแต่งจานได้อย่างน่าสนใจ นิยมนำไปใส่ในสลัด แต่งหน้าเค้กที่มีสีอ่อน เช่น เค้กมะพร้าว หรือติดกับคุกกี้เนยที่ทาด้วยไข่ขาว ก่อนนำไปอบ ได้เป็นคุกกี้ดอกไม้สีสันสดใส พร้อมคุณค่าใยอาหาร
ดอกไม้กินได้…ไม่ใช่ดอกอะไรก็ได้
ดอกไม้ตามธรรมชาติที่เห็นว่าสวยงาม ไม่ใช่ทุกชนิดที่สามารถรับประทานได้อย่างปลอดภัย บางชนิดที่อาจก่อให้เกิดโทษต่อร่างกายได้ เช่น เทียนหยด ดอกมีสีสันสดใส สวยงาม แต่ก้านดอก ใบ และผล ของพืชชนิดนี้มีพิษต่อร่างกาย เพราะมีสารในกลุ่มซาโปนิน ที่ก่อให้เกิดการระคายเคืองต่อระบบทางเดินอาหาร จึงไม่ควรนำมาเป็นส่วนประกอบของอาหาร นอกจากนั้น ยังมีข้อควรระวังอื่น ๆ ในการเลือกดอกไม้มาเป็นส่วนประกอบ หรือตกแต่งจานอาหาร ดังนี้
- หลีกเลี่ยงการใช้ดอกไม้ที่ไม่รู้จัก หรือมียางมาประกอบอาหาร
- เลือกดอกไม้ที่ปลูกในดินที่ปลอดภัย ไม่ใช้สารเคมีปราบศัตรูพืช โดยในปัจจุบันมีสวนดอกไม้ที่ปลูกโดยวิธีธรรมชาติมากมาย หากไม่ได้ปลูกเอง ก็ควรเลือกดอกไม้ที่มาจากแหล่งที่ได้มาตรฐาน
- ดอกไม้ที่ปลูกโดยวิธีธรรมชาติ อาจมีมด หรือตัวอ่อนของแมลงบางชนิดแฝงอยู่ ดังนั้น ควรระวังแมลงที่อาจแฝงมากับดอกไม้ ปะปนลงไปในอาหาร
จากข้อมูลต่าง ๆ ข้างต้น แสดงให้เห็นว่าวัฒนธรรมในการนำดอกไม้กินได้มาเป็นส่วนประกอบ หรือตกแต่งจานอาหาร เป็นสิ่งที่แสดงภูมิปัญญาทางด้านอาหารที่มีมายาวนาน และมีการสร้างสรรค์ ต่อยอดมาในปัจจุบันได้อย่างน่าสนใจ นอกจากจะช่วยเพิ่มคุณค่าให้กับอาหารทั้งคาว และหวาน ให้ประโยชน์ต่อสุขภาพของผู้บริโภค ทั้งยังสามารถสร้างสรรค์ต่อยอดไปในอนาคตได้อย่างไม่รู้จบ ซึ่งจะเป็นการช่วยยกระดับอาหารให้มีมูลค่าเพิ่มขึ้นอีกด้วย
Writer : Taniya Nantasukon
Source :
- เปลี่ยน ภาสกรวงศ์, ท่านผู้หญิง. 2451. แม่ครัวหัวป่าก์. มปท. สืบค้นจาก https://vajirayana.org
- Roos, D. 2013. Choosing and Using Edible Flowers. North Carolina Cooperative Extension Service. Retrieved from http://caih.jhu.edu
- ฐานข้อมูลพรรณไม้ องค์การสวนพฤกษศาสตร์ สืบค้นจาก : http://qsbg.org