สำหรับความเป็นมาของ กราฟฟิตี้ (Graffiti) และ สตรีทอาร์ต (Street Art) ต้องเล่าย้อนไปว่า กราฟฟิตี เริ่มเข้ามาในสังคมไทยก่อน เนื่องด้วยการเข้ามาของวัฒนธรรมตะวันตก คือ เพลงฮิพฮอพ (Hip Hop) การสื่อสารอย่างตรงไปตรงมา ทำให้คนรุ่นใหม่ในสังคมเกิดความสนใจ และกลายเป็นความนิยมในเวลาอันรวดเร็ว จากนั้น เราก็ได้รับเอาวัฒนธรรมอันเกี่ยวเนื่องกับเพลงฮิพฮอพเข้ามาด้วยหลายอย่าง เช่น ลายเสื้อผ้า การเต้น รวมถึงศิลปะที่เรียกว่า Graffiti โดยคำคำนี้มาจากคำว่า “Graffio” ในภาษาอิตาเลียน ที่หมายถึง “a scratch” หรือ “การขีดเขียน” ในภาษาไทย
สารบัญ
- ความเป็นมาของ กราฟฟิตี้
- ศิลปิน กราฟฟิตี้ ชื่อเสียงระดับโลก
- เนื้อหา และเจตนาของการสื่อสาร
- ตัวตนของผู้สร้างผลงาน
- บทสรุปความแตกต่าง
ความเป็นมาของ กราฟฟิตี้
ย้อนไปได้ถึงยุคก่อนประวัติศาสตร์ ในยุคที่มนุษย์ยังไม่มีภาษาเขียนใช้ มนุษย์ก็แสดงออกทางความคิดโดยการขีดเขียนลงบนเพิงผา หรือผนังถ้ำ เจตนาในการสื่อสารดังกล่าวมาปรากฏอีกครั้ง ด้วยรูปแบบที่แปลกใหม่กว่าที่เคยเป็นมา ในเมืองใหญ่อย่างมหานครนิวยอร์ก ช่วงปลายทศวรรษ 1960 เริ่มมีผู้ขีดเขียนลายเซ็นชื่อ หรือนามแฝงของตน เพื่อเป็นการแสดงตัวตนลงไปในสถานที่สาธารณะ เช่น กำแพงอาคารต่าง ๆ ในย่านแมนแฮตตัน รวมทั้งผนังในสถานีรถไฟใต้ดิน แม้จะถือว่าเป็นการผิดต่อกฎหมาย แต่ด้วยลวดลายที่โดดเด่น แปลกตา จึงดึงดูดความสนใจของผู้คนได้ ทำให้เกิดการเลียนแบบ จนมีการพัฒนารูปแบบ และกระจายผลงานไปทั่ว
ในที่สุด กราฟฟิตี้ ก็ได้รับการยอมรับในฐานะวัฒนธรรมย่อย ที่ผสมผสานระหว่างความเป็นตัวตน และความเป็นขบถ ซึ่งต่อมาก็ได้ผนวกรวมเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมฮิพฮอพ ด้วยความต้องการแสดงออกทางความคิดอย่างไร้กฎเกณฑ์ ท้าทายต่อกฎหมาย เสียดสีต่อประเด็นทางการเมือง และปัญหาสังคม เช่น การเหยียดสีผิวในอเมริกา เป็นต้น
ศิลปิน กราฟฟิตี้ ชื่อเสียงระดับโลก
ศิลปินกราฟฟิตี้ที่มีชื่อเสียงระดับโลก เช่น แบงก์ซี (Banksy) ผู้โด่งดังจากงานเสียดสีการเมือง และทุนนิยม หรือ บาสเกีย (Basquiat) ศิลปินผู้ซึ่งเคยร่วมแสดงผลงานที่ประเทศไทย ในงานเทศกาลศิลปะร่วมสมัยนานาชาติ บางกอก อาร์ต เบียนนาเล่ 2018 (Bangkok Art Biennale 2018)
ความแตกต่างระหว่าง สตรีทอาร์ต และ กราฟฟิตี้ แน่นอนว่าทั้งสตรีทอาร์ต และกราฟฟิตี้ ต่างก็เป็นงานสร้างสรรค์ที่ดึงดูดใจ จนทำให้ผู้คนที่ผ่านไปมาไม่สามารถมองผ่านได้ แต่ความแตกต่างระหว่างสตรีทอาร์ต และกราฟฟิตี้ ก็มีอยู่ในหลายประเด็น ดังนี้
เนื้อหา และเจตนาของการสื่อสาร
กราฟฟิตี้ จะแสดงออกอย่างอิสระ อาจเป็นการพ่นชื่อของศิลปินลงไปบนผนังตึก เพื่อเป็นการ “ฝากชื่อและผลงาน” หรือเจตนาเสียดสีปัญหาบางอย่างในสังคมโดยอาศัยภาพเป็นสื่อ ในขณะที่งานสตรีทอาร์ตบางงาน ก็เป็นไปเพื่อการจรรโลงใจ มีจุดมุ่งหมายเพื่อทำให้งานศิลปะที่ดูเข้าถึงยากในความคิดของคนบางกลุ่ม เข้าถึงได้ง่ายขึ้น หรือ “ย่อยง่ายขึ้น” บางงานที่แฝงนัยยะเสียดสี ก็นำเสนอในขอบเขตที่ยังพอให้พูดถึงได้ ชวนให้สนุกต่อการขบคิด และตีความ
ตัวตนของผู้สร้างผลงาน
กราฟฟิตี้ ส่วนมากเป็นการแสดงงานในที่สาธารณะ ด้วยเนื้อหาที่ค่อนข้างประชดประชัน จึงมีน้อยครั้งที่จะได้รับความยินยอมจากเจ้าของสถานที่ ศิลปินเจ้าของผลงานส่วนมากจึงใช้ชื่อย่อ หรือฉายา แทนการเปิดเผยตัวตน เพื่อหลีกเลี่ยงความผิดตามกฎหมาย ในขณะที่ ศิลปินสตรีทอาร์ต มักทำงานในลักษณะที่ได้รับความยินยอมจากเจ้าของสถานที่ เพราะต่างก็ได้รับผลประโยชน์ร่วมกัน ศิลปินได้แสดงผลงานให้คนจำนวนมากเห็น ส่วนเจ้าของสถานที่ก็ได้สร้างแลนด์มาร์ค และสร้างจุดสนใจให้แก่สถานที่ของตน ดังนั้น สำหรับในประเทศไทย ศิลปินสตรีทอาร์ตจึงไม่จำเป็นต้องปกปิดตัวตน และเป็นศิลปินที่มาจากหลากหลายสาขา เช่น ไฟน์อาร์ต หรือคนทำงานด้านกราฟฟิกดีไซน์
บทสรุปความแตกต่าง
แม้ว่าจะมีความแตกต่าง บนความเหมือนกันของศิลปะที่เรียกว่า “สตรีทอาร์ต” และ “กราฟฟิตี้” แต่ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า ศิลปะทั้งสองแขนง ได้ทำหน้าที่คล้ายกับการตะโกนเรียก ให้คนที่อยู่ในมุมที่อาจจะไม่ได้สนใจศิลปะ ได้หันมอง และฉุกคิด ว่าศิลปะกำลังพูดแทน สะท้อนภาพบางอย่างในจิตใจ หรือแม้แต่ปลอบประโลมเราได้อย่างมหัศจรรย์ อันเป็นเครื่องตอกย้ำถึงคุณค่าของศิลปะที่มีต่อโลกไปนี้อย่างลึกซึ้ง
Writer : Taniya Nantasukon