สิทธิของสตรี เป็นสิ่งที่ทุกคนควรให้เกียรติและให้การยอมรับ เนื่องจากปัจจุบันผู้หญิงและผู้ชายนั้นมีความสามารถเท่าเทียมกันอยู่มาก ทั้งในเรื่องของการศึกษา , สภาวะความเป็นผู้นำ , รวมถึงการมีสิทธิและเสรีภาพในการออกเสียงในเรื่องที่เป็นประโยชน์ จึงเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิด “วันสตรีสากล” ขึ้นมา เพื่อทำให้สตรีทุกคนบนโลกใบนี้สามารถเชื่อถึงกัน ด้วยการมีสิทธิและเสรีภาพอย่างเท่าเทียมนั่นเอง วันนี้บทความของเราก็มีความรู้ดี ๆ เกี่ยวกับวันสตรีสากล ที่ใครหลายคนอาจลืมเลือนไปมาให้ทุกท่านได้รับรู้กันอีกครั้งหนึ่งค่ะ
สารบัญ
ประวัติ วันสตรีสากล
วันสตรีสากล ภาษาอังกฤษ : International Women’s Day หรือ IWD
วันสตรีสากลตรงกับวันที่ : 8 มีนาคม ของทุกๆ ปี
โดยจุดเริ่มต้นของวันสตรีสากลคือวันที่ 28 กุมภาพันธ์ ค.ศ.1909 ณ ประเทศสหรัฐอเมริกา โดยในขณะนั้นมีการใช้แรงงานผู้หญิงในการทำงานที่โรงงานเย็บผ้า โดยกลุ่มสตรีเหล่านี้นั้นได้รวมตัวกันเพื่อใช้สิทธิในการเรียกร้องความเป็นธรรมในเรื่องของค่าจ้างที่มีการบิดเบือน และไม่คุ้มค่ากับวันและเวลาที่เสียไป โดยพวกเขาทำงานอย่างหนัก 16 ชั่วโมงต่อวัน แต่ค่าจ้างที่ได้นั้นกลับน้อยนิด จนทำให้พวกเขาทนไม่ไหวและขอเรียกร้องสิทธิในเรื่องดังกล่าว
โดยบุคคลที่ทำให้เกิดวันสตรีสากลก็คือ คลาร่า เซทคิน (Clara Zetkin) ผู้สนับสนุนกลุ่มสิทธิสตรีชาวเยอรมัน และในขณะนั้นเธอเองก็ยังมีตำแหน่งนักการเมืองห้อยบ่าเอาไว้ โดยวิธีที่เธอใช้ในการเรียกร้องสิทธิให้แก่เหล่าสตรีคือการที่เธอได้ปลุกระดมให้สตรีกว่า 15,000 คน มารวมตัวกันเพื่อเรียกร้องความเป็นธรรมที่ไม่เหมาะสมกับพวกเธอและหลังจากนั้นหนึ่งปีในปี ค.ศ.1910 ก็ได้มีการประชุมสมัชชาแรงงานสตรี จาก 17 ประเทศทั่วโลก ณ ประเทศเดนมาร์ก ซึ่งถือเป็นครั้งแรกในการประชุมเกี่ยวกับสิทธิสตรี อีกทั้งยังมีการแต่งตั้งตัวแทนแรงงานผู้หญิงจำนวน 100 คน ให้มีบทบาทในเรื่องของสิทธิสตรีมากยิ่งขึ้นในเวลาต่อมา
ชื่อเดิมของวันสตรีสากลโลกคือ “วันสตรีแรงงานสากล” และได้ถูกเปลี่ยนแปลงเมื่อปี ค.ศ.1975 โดยได้รับการรับรองจากองค์กรสหประชาชาติ (UN) ให้วันที่ 8 มีนาคม ของทุกปี เป็นวันสตรีสากล ซึ่ง UN นั้น ก็เป็นองค์กรหนึ่งที่ให้ความสำคัญต่อสิทธิของสตรีได้อย่างดี ด้วยคำขวัญที่ถูกมอบให้แก่สตรีทุกคนในวันสากลที่ว่า “เฉลิมฉลองอดีต และวางแผนเพื่ออนาคต” ซึ่งเป็นคำขวัญที่แสดงให้เห็นว่า UN นั้นให้ความสำคัญต่อวันสตรีสากลโลกนั่นเอง
กิจกรรมที่ทำ ในวันสตรีสากล
ในวันสตรีสากล หลากหลายประเทศจะมีการจัดกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับการรักษาสิทธิของสตรีตลอดจนการณรงค์ส่งเสริมเรื่องของความเสมอภาคแก่สตรีกันอย่างแพร่หลาย ไม่ว่าจะเป็นการเดินขบวนเนื่องในวันสตรีโลกในประเทศสหรัฐอเมริกา ที่ผู้หญิงจำนวนมากจะออกมารณรงค์เรื่องของสิทธิและเสรีภาพของสตรีและความเสมอภาคซึ่งในการเดินขบวนครั้งนี้ก็ไม่ได้มีเพียงแค่ผู้หญิงเท่านั้น แต่ยังมีผู้ชายที่ร่วมเดินขบวนด้วยซึ่งกิจกรรมที่สำคัญของประเทศอเมริการในวันสตรีโลกอีกหนึ่งสิ่งที่มักจะทำกันก็คือการบริจาคเงินให้แก่องค์กรที่เกี่ยวข้องกับการรักษาสิทธิของสตรีนั่นเอง
ในประเทศทางฝั่งยุโรป จะมีการทำกิจกรรมในวันสตรีโลกที่เรียกได้ว่ามีความอบอุ่นหัวใจเป็นอย่างมาก โดยฝ่ายชายมักจะซื้อดอกไม้เพื่อมอบให้ฝ่ายหญิง เพื่อแสดงถึงความมีจิตใจที่แข็งแกร่งของผู้หญิงที่สามารถฟันฝ่าอุปสรรคต่าง ๆ ร่วมกันมาจนทำให้โลกใบนี้น่าอยู่มากยิ่งขึ้น โดยดอกไม้ที่เป็นสัญลักษณ์ของวัสตรีสากลก็คือ ดอกมิโมซ่าสีเหลือง ซึ่งจะผลิดอกในช่วงของเดือนมีนาคม ซึ่งเป็นเดือนแห่งวันสตรีสากล อีกทั้งความพิเศษของดอกมิโมซ่าสีเหลืองนี้ก็คือ ความอ่อนบางของดอกแสดงถึงความอ่อนโยนของสตรี และความแข็งแกร่งที่ทนต่อสภาพอากาศที่หนาวได้จนสามารถผลิดอกในช่วงมีนาคมได้อย่างสวยงาม
วันสตรีสากลในไทย
ในประเทศไทยเอง ก็มีการทำกิจกรรมในวันสตรีสากลเช่นกัน โดยกิจกรรมหลัก ๆ ที่จะสามารถเห็นได้ในทุกปีเลยนั่นก็คือ การมอบโล่ประกาศเกียรติคุณแก่สตรี จากองค์กรดีเด่นทั้งหลาย ที่มีส่วนช่วยในการพัฒนาประเทศให้เป็นตามรูปแบบที่ได้วางแผนไว้ รวมถึงยังมีกิจกรรมการรณรงค์ให้สตรีสามารถมีสิทธิในการเข้าไปมีส่วนร่วมในการทำงานกับทุกหน่วยงานและทุกองค์กร ไม่ว่าจะเป็น ทหาร , ตำรวจ , หรือนักการเมือง ซึ่งจัดขึ้นโดยกลุ่มบูรณาการสตรีและภาคีเครือข่าย โดยมีวัตถุประสงค์หลักเพื่อให้กลุ่มสตรีมาแลกเปลี่ยนความคิดพร้อมทั้งนำเสนอปัญหาต่าง ๆ ที่คิดว่าไม่เหมาะสมต่อสตรีและขัดต่อความเสมอภาคในความเป็นเพศหญิงนั่นเอง
บทสรุป วันสตรีสากล
วันสตรีสากล เป็นวันสำคัญวันหนึ่งของสตรีทั่วโลกที่จะสามารถเรียกร้องในเรื่องของสิทธิและเสรีภาพของสตรีได้อย่างเสรี รวมถึงความเสมอภาคของเพศชายและเพศหญิงที่ไม่ควรจำกัดอยู่ในกฎเกณฑ์เดิม ๆ ที่ฝ่ายหญิงจะต้องเป็นผู้ดูแลบ้านเลี้ยงดูบุตรและมีหน้าที่เป็นผู้ตามฝ่ายชาย ส่วนฝ่ายชายก็จะถือสิทธิเป็นใหญ่ในบ้านนั้น ๆ ซึ่งก็มีการนำเสนอข้อเรียกร้องต่าง ๆ ที่ต้องการให้รัฐบาลมีส่วนช่วยในการสนับสนุนให้เรื่องราวเหล่านี้สามารถเกิดขึ้นได้จริง เพื่อความเสมอภาคต่อเพศและความมีเสรีในการเลือกประกอบอาชีพอย่างเท่าเทียมนั่นเอง