เคยสังเกตุหรือไม่ ว่าทำไมประเด็นต่าง ๆ หรือเรื่องราวบางอย่างที่พบเจอได้ในชีวิตประจำวันทั่วไปนั้น แต่ละคนที่พบเจอก็จะมีการตีความแตกต่างกันออกไป ในสมองของมนุษย์นั้นจะสามารถเชื่อมโยงข้อมูลต่าง ๆ ที่ได้รับมาได้ แม้จะมีการรับสารที่มาจากหลากหลายทิศทาง แต่กระบวนการนำมาวิเคราะห์นั้นจะขึ้นอยู่กับประสบการณ์และสิ่งแวดล้อมที่แต่ละคนได้พบเจอมา จึงทำให้ได้เห็นมุมมองการตีความที่หลายหลาย แต่บางเรื่องที่สำคัญ จำเป็นจะต้องมีหลักการหรือกฎเกณฑ์บางอย่างที่ตั้งขึ้นมาเพื่อเป็นบรรทัดฐานของเรื่องนั้น การที่จะกำหนดหลักเกณฑ์ออกมานั้นจะต้องผ่านการคิดแบบมี ‘ตรรกะ’ ออกมาก่อนนั่นเอง ซึ่งเจ้าตัวตรรกะนี้คืออะไร และมีความสำคัญแค่ไหน วันนี้เราจะพาไปรู้จักกัน
ตรรกะ คืออะไร
ตรรกะ หรือ ลอจิก (Logic) คือ ศาสตร์แห่งการประเมินความคิดของมนุษย์ การศึกษาโครงสร้างและรูปแบบการคิดเพื่อหาหลักการและเหตุผลให้กับเรื่องต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นทุกอย่างบนโลกใบนี้ การที่คนเราจะสามารถอธิบายอะไรบางอย่างออกมาได้นั้น จะต้องมีทักษะการคิดเชิงวิพากษ์อยู่ด้วย ซึ่งนั่นก็คือหัวใจหลักของตรรกะ การประเมินเรื่องราวต่าง ๆ นั้น จะต้องใช้ตรรกะเพื่อแยกแยะความจริงและความเท็จออกจากกัน และต้องอยู่บนบรรทัดฐานของความเชื่อที่สมเหตุสมผลด้วย บางครั้งก็ใช้สำหรับการอ้างถึง ‘สามัญสำนึก’ ด้วยเช่นกัน เพราะคำว่า Logic นี้มีรากศัพท์มาจากภาษาละตินคำว่า logĭca และในทางกลับกันจากภาษากรีก λογική (logike) หมายถึง ที่มีเหตุผล, ปัญญา, วิภาษ, การโต้เถียง ซึ่งมาจากคำว่า λόγος หมายถึง โลโก้, คำ, ความคิด, เหตุผล ,ความคิด , อาร์กิวเมนต์ นั่นเอง
ตรรกะ มีอะไรบ้าง
ตรรกะนี้ได้เข้าไปแทรกซึมอยู่ในชีวิตประจำวันของเราทุกคนอย่างไม่รู้ตัว ไม่ว่าจะเรื่องไหนก็มักจะต้องมีการนำตรรกะออกมาใช้ควบคู่กันไปอยู่เสมอ การศึกษาเกี่ยวกับตรรกะก็มีหลายแขนงเช่นกัน ซึ่งจะมีอะไรบ้างนั้น เรามีตัวอย่างมาให้ดูกัน
1. ตรรกศาสตร์ หรือ ตรรกวิทยา
มักจะเป็นส่วนหนึ่งในวิชาปรัชญา คณิตศาสตร์ คอมพิวเตอร์ รวมไปถึงภาษาศาสตร์ ที่หลายคนน่าจะต้องเคยเรียนผ่านกันมาบ้างแล้วในช่วงวัยมัธยม ซึ่งวิชาตรรกศาสตร์นี้ เป็นการเรียนการสอนว่าด้วยการศึกษาเพื่อแยกการให้เหตุผลที่สมเหตุสมผล ออกจากการให้เหตุผลที่ไม่สมเหตุสมผล ประกอบด้วยการศึกษารูปแบบของข้อโต้แย้งอย่างเป็นระบบ บุคคลที่ขึ้นชื่อว่าเป็นบิดาของวิชาตรรกะศาสตร์ก็คือนักปรัชญาในตำนานที่เราคุ้นชื่อกันดีอย่างอริสโตเติล (Aristotle) นั่นเอง โดยถูกเรียกว่าเป็นนักปรัชญาและผู้รู้รอบด้านชาวกรีกระหว่างสมัยคลาสสิกในกรีซโบราณ ซึ่งอลิสโตเติลนั้นเชื่อว่า ‘เชื่อว่ามนุษย์เท่านั้นที่สามารถคิดเกี่ยวกับเหตุและผลได้’ จึงได้เขียนตำราที่เกี่ยวกับการให้เหตุผลที่ถูกต้องขึ้นมา โดยหลักการของหนังสือเล่มนี้กลายมาเป็นหลักการของตรรกศาสตร์เชิงอนุมาน (Deductive Logic) ในปัจจุบัน
2. ตรรกศาสตร์เชิงอนุมาน (Deductive Logic)
เป็นส่วนหนึ่งของตรรกศาสตร์ที่ว่าด้วยการคาดคะเนตามหลักเหตุผล โดยจะแบ่งได้เป็น 3 ประเภท คือ การอนุมานแบบนิรนัย (deductive inference) การอนุมานแบบอุปนัย (inductive inference) และ การอนุมานเชิงสถิติ (statistical inference) ในทางด้านจิตวิทยาเชิงประชาน (cognitive psychology) ได้มีการนำเอาตรรกะเชิงอนุมานนี้ไปศึกษาเพื่อดูลักษณะการคิดของมนุษย์ ส่วนทางด้านเทคโนโลยี ได้มีการพยายามสร้าง AI หรือปัญญประดิษฐ์ที่มีระบบอนุมานอัตโนมัติ เพื่อเลียนแบบการอนุมานของมนุษย์
3. ตรรกะเชิงปรัชญา หรือ ปรัชญาตรรกวิทยา
ในส่วนของปรัชญาและตรรกะนั้น เรียกว่าเป็นสิ่งที่ตัดกันไม่ขาดจริง ๆ ในอดีตได้มีนักปรัชญามากมายพยายามค้นหาความจริงของสิ่งต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในโลก แต่สิ่งที่จะเป็นข้อพิสูจน์หรือเป็นเครื่องมือยืนยันความเชื่อต่าง ๆ ที่ค้นพบนั้นก็คือตรรกะนั่นเอง โดยตรรกวิทยาเชิงปรัชญานั้น จะเป็นสาขาหนึ่งของการศึกษาที่เกี่ยวข้องกับคำถามเกี่ยวกับการอ้างอิง การทำนาย เอกลักษณ์ ความจริง ตรรกวิทยาเชิงปริมาณ การดำรงอยู่ ลำดับเชิงตรรกะ ตรรกวิทยาเชิงรูปแบบและความจำเป็นเชิงตรรกะ นอกจากนี้ยังมีการนำเทคนิคทางตรรกวิทยามาประยุกต์ใช้ในการอภิปรายปัญหาเชิงปรัชญาอีกด้วย
4. ตรรกศาสตร์คลุมเครือ หรือ ฟัซซี่ลอจิก (fuzzy logic)
แค่เห็นชื่อก็รู้สึกได้ถึงความไม่ชัดเจนแล้วใช่มั้ยคะ เพราะตรรกศาสตร์คลุมเครือก็คือการนำแนวคิดการวิเคราะห์ตรรกะมาใช้ในสถานการณ์ที่ไม่ชัดเจน โดยปกติแล้ว การคิดแบบตรรกศาสตร์ดั้งเดิมคือมีตัวเลือกที่ถูกและผิด ใช่หรือไม่ใช่ ซึ่งจะเป็นคำตอบที่ชัดเจนและตายตัว แต่ในความเป็นจริงแล้ว คนเรามักจะเจอกับสถานการณ์ที่คลุมเคลือ ไม่มีคำตอบที่ถูกต้องชัดเจน เช่น ในวงการเทคโนโลยีจะมีการแทนค่าว่า 0 = 1 นั่นเอง ส่วนตัวอย่างในเรื่องทั่วไป เช่น คำถามที่ไม่มีข้อสรุปตายตัวอย่าง อายุ 25 จัดว่าเป็นวัยรุ่นอยู่หรือไม่ ซึ่งบางคนก็คิดว่าใช่ และบางคนก็ว่าไม่ใช่ ทำให้ต้องมีการศึกษาเกี่ยวกับสถานการณ์คลุมเครือแบบนี้ และทำให้เกิดการใช้ตรรกศาสตร์คลุมเครือเพื่อนำมาอธิบายเหตุการณ์ดังกล่าว
ประโยชน์ของตรรกะในชีวิตประจำวัน
การที่มนุษย์เราจะใช้ชีวิตได้อย่างปลอดภัย ไม่เป็นอันตรายทั้งต่อตัวเองและผู้อื่น จำเป็นจะต้องรู้จักใช้เหตุผลในการดำเนินชีวิตเป็นอย่างมาก การให้เหตุผลในเรื่องต่าง ๆ นี้ก็จัดว่าเป็นหนึ่งในสัญชาตญาณของมนุษย์ ซึ่งถ้ามีการศึกษาเรื่องตรรกศาสตร์ก็จะเห็นได้ว่าการนำไปใช้หรือการให้เหตุผลต่าง ๆ นั้นมีประโยชน์เป็นอย่างมาก ตัวอย่างเช่น การให้เหตุผลแบบอุปนัยในชีวิตประจำวัน ในทุกวันนี้เราจะมีการตั้งคำถามกับสิ่งต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นรอบตัวมากมาย และยังพยายามให้เหตุผลกับคำถามเหล่านั้นอยู่เสมอ เช่น เมื่อรู้สึกไม่สบายขึ้นมาก็จะเกิดคำถามกับตัวเองว่า ทำไมถึงป่วย คำตอบที่คิดได้ก็คือ พักผ่อนไม่เพียงพอ ซึ่งเป็นการให้คำตอบกับคำถามที่ตัวเองสร้างขึ้น เพราะรู้ว่าตัวเองนั้นพักผ่อนไม่เพียงพอจริง ๆ ถ้ามีการตั้งคำถาม และมีคำตอบอยู่เสมอ ก็เหมือนเป็นการฝึกให้ตัวเองได้คิดอย่างเป็นเหตุเป็นผล ส่งผลให้ดูเป็นคนน่าเชื่อถือ น่าไว้ใจ ส่วนในด้านสังคมการใช้เหตุผลเป็นเรื่องที่จำเป็นอย่างมาก เพราะถ้าเกิดว่าสังคมไหนขาดเหตุผล ขาดกฎเกณฑ์ไป ก็จะทำให้เกิดความวุ่นวายได้
7 ข้อ Checklist ตรรกะป่วย
แม้ว่าทุกคนจะมีความคิดเป็นของตัวเอง แต่ก็อย่าลืมว่าบางทีความคิดของเราก็อาจจะไม่ถูกต้องเสมอไป ก่อนที่จะตัดสินใจทำอะไรก็ควรดูทิศทางคนรอบข้างดูสักนิด เปิดรับข้อมูลหลาย ๆ ด้าน บางครั้งการที่คนเรามีอายุเยอะก็ไม่ได้หมายความว่าจะมีตรรกะที่ดี เป็นที่มาของตำแหน่งมนุษย์ป้าหรือมนุษย์ลุงนั่นเอง เพราะการคิดวิเคราะห์นั้นไม่ได้ขึ้นอยู่กับวัยวุฒิ แต่ว่าขึ้นอยู่กับวุฒิภาวะและการสั่งสมข้อมูล ถ้ามีไม่มากพอก็จะแสดงออกมาในรูปแบบของ ตรรกะป่วย (Logical Fallacies) หรือการวิเคราะห์ข้อมูลที่มีการผิดพลาดในด้านเหตุผลและการเชื่อมโยงข้อมูล ส่งผลทำให้การตัดสินใจผิดพลาดตามไปด้วย ทำให้เกิดตรรกะบกพร่อง เชื่อในข้อมูลที่เป็นเท็จ เกิดการหลอกลวงและไร้เหตุผล จะมีอะไรบ้าง ลองมาเช็กตัวเองไปพร้อม ๆ กันได้เลย
- การพยายามโต้แย้งนอกหัวข้อหลักที่กำลังเป็นประเด็นอยู่ เพื่อที่จะทำให้ข้อมูลของอีกฝ่ายดูอ่อนแอลง ทำให้ไม่น่าเชื่อถือ และเป็นการพยายามเบี่ยงเบนประเด็น
- การพยายามชี้ว่าเรื่องราวนั้น ๆ เป็นจริงหรือไม่จริงตามความคิดตัวเอง เพราะว่าไม่มีหลักฐานมารองรับ จึงทำให้คนที่พูดสามารถตัดสินใจเอาเองว่าควรเป็นอย่างไร โดยไม่ต้องใช้หลักฐานมายืนยัน
- การมีความคิดแบบสุดโต่ง เชื่อในข้อมูลที่ตัวเองมีแบบไม่ยอมเปิดรับความเห็นต่าง จะพบได้ในกลุ่มคนที่มีความเชื่อในเรื่องใดเรื่องหนึ่งอย่างไม่มีข้อกังขา ถึงแม้ว่าจะมีข้อมูลอีกฝั่งมาต่อต้านมากเพียงใดก็ไม่ยอมเปิดใจรับฟัง
- การคิดแบบเหมารวม เป็นความเชื่อที่ว่าเมื่อมีหนึ่งอย่างเป็นแบบนั้น สิ่งอื่น ๆ ที่อยู่รอบข้างหรือใกล้ชิดก็ต้องเป็นตามไปด้วย ทำให้เกิดการเหมารวมและสร้างอคติที่รุนแรงได้
- การเชื่อมโยงเอาเรื่องที่ไม่เกี่ยวข้องเข้ามารวมเป็นเรื่องเดียวกัน เพื่อพยายามหาข้อสนับสนุนความคิดของตัวเอง ถือว่าเป็นการเอาตัวเองเป็นที่ตั้งและพยายามหาเหตุผลที่ตัวเองคิดว่าถูกต้องมารองรับ
- การเชื่อในเหตุผลบางอย่างเพราะเกิดจากการที่ผู้มีอำนาจมากกว่าบอกมา ว่าสิ่งนี้ดี สิ่งนี้ไม่ดี หรือการแนะนำให้ใช้ผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ก็นำมาใช้เพราะเชื่อถือคนผู้นั้น ถือว่าเป็นการนำเอาข้อมูลมาใช้โดยไม่ได้ผ่านการวิเคราะห์มาก่อน
- การเชื่อบางสิ่งบางอย่างเพราะว่าใคร ๆ ก็ทำกัน หรือไหลตามกันไปนั่นเอง นอกจากจะทำให้ดูไม่มีความคิดเป็นของตัวเองแล้ว ก็จะทำให้ถูกหลอกลวงจากโฆษณาชวนเชื่อได้ง่ายเช่นกัน
ลองเช็กตัวเองดูกันแล้วใช่ไหมคะ สรุปแล้วตัวเรานั้นยังเป็นคนที่มีตรรกะที่ดีอยู่หรือไม่ก็คงต้องลองตอบตัวเองดูอีกที จะเห็นได้ว่าตรรกะนั้นเชื่อมโยงอยู่รอบตัวของพวกเราทุกคนในทุกมิติเลยทีเดียว จึงเป็นสิ่งที่ค่อนข้างสำคัญในการดำเนินชีวิต ถ้าได้มีโอกาสศึกษาเพิ่มเติมก็คงเป็นเรื่องที่ดีไม่น้อยเลยทีเดียว แถมยังได้เปิดมุมมองใหม่ ๆ ที่บางทีเราอาจจะนึกไม่ถึง และไม่เคยรู้ถึงมุมมองนี้มาก่อนเลย ที่สำคัญก็คือ เมื่อได้รับรู้ถึงมุมมองอีกด้านแล้ว สิ่งที่ต้องทำเป็นลำดับแรกก็คือการเปิดใจยอมรับ และนำเอาสิ่งเหล่านั้นมาวิเคราะห์ร่วมกับสิ่งเดิมที่รู้อยู่แล้ว ถึงจะเป็นการคิดอย่างมีตรรกะที่แท้จริง