อัพเดทเทรนด์ในวงการผลิตภัณฑ์เสริมความงามตอนนี้ นอกจากเรื่องของ Cruelty free เพื่อนๆจะต้องรู้จักหรือเคยได้ยินชื่อของ พาราเบน คือ สามารถพบได้อยู่บ่อย ๆ แน่นอน เจ้าสารเคมีตัวนี้คืออะไร และมีอันตรายต่อผู้ใช้จริงหรือไม่ วันนี้เรามีข้อมูลดี ๆ มาฝากกัน
สารบัญ
พาราเบน คืออะไร
พาราเบน (Paraben) ที่หลายคนเคยได้ยินชื่อนี้ก็คือสารเคมีชนิดหนึ่งที่เรียกกันติดปากว่าสารกันเสียหรือสารกันบูดนั่นเอง เราจะสามารถพบเจ้าสารตัวนี้ได้ในผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ที่เราต้องใช้อยู่ในชีวิตประจำวัน ไม่ว่าจะเป็นเครื่องสำอาง ผลิตภัณฑ์ระงับกลิ่นกาย แชมพูสระผม ครีมนวดผม อุปกรณ์อาบน้ำ และผลิตภัณฑ์บำรุงผิวต่าง ๆ เรียกได้ว่าพาราเบนนี้อยู่รอบตัวเราจริง ๆ
ทำไมต้องใช้ พาราเบน
ส่วนสาเหตุที่ต้องมีการใช้พาราเบนเป็นส่วนประกอบในผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ก็เพราะว่า สารเคมีตัวนี้มีคุณสมบัติในการช่วยยับยั้งการเจริญเติบโตของแบคทีเรียหรือจุลินทรีย์ต่าง ๆ ได้เป็นอย่างดี ทำให้ช่วยยืดอายุการใช้งานของผลิตภัณฑ์ได้โดยไม่ต้องแช่เย็น และยังมีราคาถูก ทำให้มีการใช้อย่างแพร่หลาย และถูกนำไปเป็นส่วนผสมของผลิตภัณฑ์ที่เราใช้อยู่ในชีวิตประจำวันอีกด้วย แต่ขึ้นชื่อว่าเป็นสารเคมี หลายคนอาจจะสงสัยว่า เจ้าพาราเบนนี้ จะส่งผลเสียต่อร่างกายหรือไม่ โดยเฉพาะในเครื่องสำอางค์ต่าง ๆ ที่มีการผสมสารกันเสียชนิดนี้เข้าไป ถ้าใช้ไปนาน ๆ อาจจะส่งผลเสียต่อร่างกายก็เป็นได้
ข้อเสีย พาราเบน
ซึ่งจากที่มีการศึกษาผลกระทบจากการใช้พาราเบนนั้น พบว่าถ้ามีการรับสารเคมีชนิดนี้เข้าสู่ร่างกายเป็นจำนวนมาก จะส่งผลเสียต่อสุขภาพจริง ๆ โดยเมื่อร่างกายมีการดูดซึมเข้าไปแล้วสารพาราเบนตัวนี้สามารถไปรบกวนการทำงานของฮอร์โมนที่เกี่ยวข้องกับการสืบพันธุ์ได้ นั่นก็คือฮอร์โมนเอสโตรเจนของเพศหญิง และฮอร์โมนเทสโทสเตอโรนของเพศชายนั่นเอง ซึ่งพาราเบนจะทำให้ฮอร์โมนเกิดความปั่นป่วนและส่งผลกระทบต่อระบบสืบพันธุ์และความผิดปกติในครรภ์ได้ ถือเป็นอันตรายอย่างมากถ้ามีการรับสารตัวนี้เข้าไปในปริมาณที่มากเกินไป นอกจากระบบสืบพันธ์แล้ว สารพาราเบนยังมีส่วนทำให้เกิดโรคต่าง ๆ ได้อีกด้วย ไม่ว่าจะเป็น โรคเรื้อรัง, โรคมะเร็ง, ความผิดปกติของพัฒนาการ, ภาวะการมีบุตรยาก, การแท้งบุตร, คลอดก่อนกำหนด, ความพิการแต่กำเนิด, สเปิร์มไม่สมบูรณ์, โรคอ้วน, โรคเกี่ยวกับระบบการเผาผลาญอาหาร และ ความหนาแน่นของกระดูก เป็นต้น
อัตราส่วนไม่เกิน 0.25%
แต่ก็ใช่ว่าการรับพาราเบนเข้าสู่ร่างกายจะเป็นอันตรายเสมอไป เพราะได้มีการรับรองโดยสำนักงาน อย.ทั่วโลกแล้วว่าเจ้าสารตัวนี้ยังสามารถใช้ได้ในผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ได้ถ้ามีในปริมาณที่เหมาะสม เพราะร่างกายคนเราจะสามารถขับออกได้เอง โดยจะใช้ในอัตราส่วนไม่เกิน 0.25% ของผลิตภัณฑ์นั้น ๆ และยังมีการใช้สารกันเสียตัวนี้ในการผลิตยารักษาโรคและอาหารอีกด้วย จึงมั่นใจได้ในระดับนึงว่าจะไม่ส่งผลเสียต่อร่างกายแน่นอน
ข้อแนะนำ
แม้ว่าผลิตภัณฑ์ส่วนใหญ่จะมีการกำหนดปริมาณที่เหมาะสมเอาไว้ แต่บางทีการหลีกเลี่ยงการใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของพาราเบนไปเลยก็น่าจะมีประโยชน์มากกว่า โดยผู้บริโภคสามารถสังเกตสัญลักษณ์ Paraben Free หรือ Non-Paraben สีเขียว ๆ บนฉลากของผลิตภัณ์ได้ เพื่อความสบายใจของผู้บริโภคนั่นเอง
Writer :
Suphansa Prathumwan